Wednesday, April 8, 2009

เกี่ยวกับประเทศนอร์เวย์






ธงชาติ
ประเทศนอร์เวย์
มารู้จักประเทศนอร์เวย์กันหน่อยนะคะ มีอะไรหลายอย่างในประเทศนี้ที่น่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการดูแลบริหารประเทศของเขา โดยให้ประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุด แม้ว่าประเทศนี้จะเป็นประเทศที่เรียกเก็บภาษีจำนวนมาก แต่เงินภาษีนี้ก็ได้นำมาบริหารประเทศและช่วยเหลือโดยให้สวัสดิการชีวิตที่ดีแก่ประชากร ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันว่าประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่ค่าครองชีพสูงที่สุด และคุณภาพชีวิตดีที่สุด นี่แหละจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนหลายชาติอยากมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ รวมทั้งคนไทยหลาย ๆ คนด้วย


ประเทศนอร์เวย์มีชื่อทางการว่าราชอาณาจักรนอร์เวย์ เป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเช่นเดียวกับประเทศไทย ภาษาที่ใช้ ภาษานอร์เวย์(Norwegian) มีประชากรทั้งหมด 4,629,566 คน(7 เม.ย. 52) ในเนื้อที่ 324,220 ตารางกิโลเมตร สกุลเงิน โครนนอร์เวย์ (NOK:Norwegian kroner) ประเทศนอร์เวย์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 19 เทศมณฑล (fylker) และ 431 เทศบาล (kommuner)

ตราประจำแผ่นดิน


การศึกษา
ก่อนที่เด็กเล็กจะเข้าโรงเรียนก็จะสามารถเข้าเนอสเซอรี่ (Barnehagen) ก่อนได้ตามแต่จะสมัครใจ โดยส่วนใหญ่ผู้ปกครองจะนำบุตรของตนเข้าเนอสเซอรี่ ซึ่งรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนเงินส่วนหนึ่งให้แก่ผู้ปกครอง แต่ถ้าผู้ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 2 ปี และต้องการจะเลี้ยงดูบุตรเองโดยที่ไม่ต้องการนำบุตรเข้าเนอสเซอรี่ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือตามส่วนที่รัฐสนับสนุน
การศึกษาในนอร์เวย์นั้นจะแบ่งเป็นหลายระดับดังนี้ คือ
  1. Grunnskolen จะแยกเป็น
    Barneskolen เด็กที่มีอายุ 6 ขวบเต็ม ต้องเข้าเรียนในระดับประถม 7 ปี
    Ungdomsskolen หรือมัธยมต้น 3 ปี
    การเรียนในระดับนี้ จะเป็นการเรียนฟรี และหนังสือฟรี ในการเรียนระดับนี้ถือเป็นภาคบังคับให้ทุกคนต้องเข้าเรียนอย่างน้อย 10 ปี

  2. Videregående skole หรือมัธยมปลาย ซึ่งปกติจะใช้เวลาเรียน 3 ปี แต่สำหรับบางคนอาจเรียนถึง 4 ปี แล้วแต่สาขาวิชาที่เรียน การศึกษาในระดับนี้จะเรียนฟรี แต่ต้องซื้อหนังสือเอง ซึ่งการเรียนในระดับนี้จะแยกเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ 12 สาขาที่เป็นสาขาอาชีพที่ให้ทั้งภาคความรู้และภาคปฏิบัติ ภายหลังที่เข้ารับการทดสอบความรู้ทางวิชาชีพ นักเรียนก็จะได้รับใบประกาศนียบัตร ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการสมัครงานได้ นักเรียนที่เลือกเรียนในสาขาวิชาชีพทั้งหมด 47% ของนักเรียนทั้งหมด ในการศึกษาในระดับนี้เป็นความสมัครใจของแต่ละคน ไม่บังคับเรียน ภายหลังจากเรียนจบในระดับนี้ก็สามารถศึกษาต่อในระดับ Høyskole หรือ Universitet หรือมหาวิทยาลัย

  3. มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยในนอร์เวย์มีทั้งหมด 6 แห่ง คือใน Olso, Bergen, Trondheim, Tromsø, Stavanger และ Ås ในระดับปริญญาตรีใช้เวลาเรียน 3 ปี ส่วนระดับปริญญาโทใช้เวลาเรียนอีก 2 ปี แต่ในการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้นค่าใช้จ่ายในการเรียนค่อนข้องสูงทีเดียว เลยมีคนในนอร์เวย์ไม่มากนักที่ต้องการเรียนต่อในระดับสูง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีทางเลือกให้กับผู้ที่ใฝ่รู้คือสามารถขอกู้เงินเพื่อการศึกษาได้ หรือจะขอทุนการศึกษาก็ทำได้
เงินทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา
ทุนการศึกษาที่ได้รับ ผู้ได้รับไม่ต้องใช้คืนเมื่อจบการศึกษาแล้ว ส่วนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษานั้นจะต้องจ่ายคืนเมื่อเรียนจบ เพียงแต่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ประชากรที่เป็นชาวต่างชาติที่ลี้ภัยมาก็สามารถได้รับเงินกู้หรือเงินทุนเพื่อการศึกษาได้เช่นกันบนพื้นฐานของมนุษยธรรม

สวัสดิการการทำงาน
รัฐบาลได้กำหนดกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการทำงานไว้หลายข้อด้วยกัน จะขอเล่าเป็นเรื่อง ๆ ไปนะคะ
เวลาการทำงาน ปกติ 37.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยไม่รวมเวลาพัก ถ้าหากว่าใครที่ต้องการทำงานเกินกว่านี้ ถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา ดังนั้นจะต้องจ่ายภาษีสำหรับค่าทำงานล่วงเวลาซึ่งถือเป็นรายได้พิเศษอย่างน้อย 40% ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากเงินเดือนปกติ ลูกจ้างจำนวนมากมีข้อตกลงในการหยุดพักงานแทนการรับเงินค่าล่วงเวลา เช่น หากลูกจ้างทำงานล่วงเวลาทั้งหมด 4 ชั่วโมง สามารถขอเวลาพักเป็นเวลา 4 ชั่วโมง หรือหากทำงานล่วงเวลานับเป็นวันได้ 5 วัน ก็สามารถขอหยุดพักงานได้ 5 วัน แทนการรับเงินค่าล่วงเวลา แต่ต้องทำเป็นข้อตกลงไว้ระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง วันหยุด และการหยุดเนื่องจากการป่วย ลูกจ้างสามารถขอลาหยุดได้เนื่องจากบุตรไม่สบายแต่จะต้องแจ้งให้นายจ้างทราบ แต่หากว่ามีการป่วยที่ต้องลาหยุดมากกว่า 3 วัน จะต้องขอใบรับรองแพทย์ไปแสดงต่อนายจ้าง และหากว่าลูกจ้างต้องการหยุดเนื่องจากสาเหตุอื่นก็จะต้องทำเรื่องขออนุญาติ เช่น การหยุดเพื่อย้ายถิ่นฐานหรือย้ายบ้าน หรือการฉลองพิธีตามศาสนา ซึ่งต้องได้รับการอนุญาติจากนายจ้างก่อน ข้อตกลงเกี่ยวกับการทำงาน ในสวัสดิการทำงานนั้นระบุว่านายจ้างและลูกจ้างต้องเขียนข้อตกลงร่วมกัน เช่น เวลาทำงานเริ่มและสิ้นสุดเมื่อไร เวลาทำงานนานแค่ไหน ต้องทำงานนั้นนานเป็นเวลาเท่าใด(กรณีไม่ใช่งานประจำ) และเกี่ยวกับเงินเดือน แม้ว่าลูกจ้างจะเป็นแค่ลูกจ้างทดลองงานหรือฝึกงานก็จำเป็นจะต้องมีข้อตกลงการทำงานร่วมกัน

สวัสดิการสังคมของรัฐบาล
รัฐบาลคำนึงถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ โดยมุ่งที่จะให้ประชาชนมีสภาวะการเงินที่ดี สุขภาพที่ดีและการศึกษาที่ดีในความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีรายได้มากน้อยเพียงใดก็ตามก็จะได้สิทธิโดยเท่าเทียมกัน รัฐบาลจะเก็บเงินส่วนหนึ่งจากภาษีที่ประชาชนจ่ายให้กับรัฐฯ ไปเป็นเงินค่าประกันสังคม (folketrygden) ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกหักออกจากเงินเดือนโดยอัตโนมัติ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเงินที่ส่งจ่ายค่าประกัน โดยจะเก็บจากประชากรทุกคนที่มีงานทำและมีรายได้ เงินจำนวนนี้จะจ่ายคืนให้ประชาชนมาเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อป่วย, คนว่างงาน, คนปลดเกษียณอายุ, บุคคลที่ไม่สามารถทำงานได้ และผู้ปกครองที่มีบุตรเล็ก เป็นต้น


รัฐฯ ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงิน โดยแบ่งเป็นประเภทตามเงินที่จ่ายออกไปหรือที่ประชาชนได้รับ ซึ่งมี 4 ประเภทด้วยกันดังนี้
  • Dagpenger บุคคลจะได้รับเมื่อตกงาน แต่จะต้องทำเรื่องร้องขอไปยัง arbeidskontoret แต่ว่าจะได้รับเงินเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่า บุคคลนั้นมีเงินได้ก่อนตกงานเท่าไหร่ และมีจำนวนผู้ร้องขอมากน้อยเพียงใด และผู้ที่ร้องขอเงินช่วยเหลือนั้นต้องพร้อมที่จะเริ่มงานใหม่ที่ arbeidskontoret หาให้ รวมทั้งพร้อมที่จะย้ายถิ่นฐานเพื่อรับงานนั้น
  • Sykepenger หรือเงินคนป่วย จะได้รับเมื่อผู้ทำประกันสังคมป่วย แต่ต้องมีเงื่อนไขว่าบุคคลนั้นต้องเข้าทำงานนั้น ๆ มาไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ และจะต้องมีการทำจดหมายลาป่วยซึ่งแพทย์เป็นผู้ออกให้ โดยแพทย์และนายจ้างจะต้องร่วมมือกันในการหาข้อสรุปว่าจะให้ผู้ป่วยหยุดงานนานเท่าใด เพื่อให้มีข้อเสียน้อยที่สุดเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดแก่นายจ้างและลูกจ้าง
  • Alderspensjon หรือเงินผู้สูงอายุ จะได้รับเมื่อบุคคลมีอายุครบ 67 ปีเต็ม จำนวนเงินบำนาญจะมากหรือน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับว่า บุคคลนั้นทำงานมานานเป็นเวลาเท่าไร และเคยมีรายได้เท่าใด และห้าบุคคลนั้นไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอก็จะได้เงินบำนาญขั้นต่ำ (minstepensjon) ส่วนผู้ที่จะได้รับเงินบำนานเต็มขั้นนั้นจะต้องอาศัยอยู่ในประเทศนอร์เวย์มาไม่น้อยกว่า 40 ปี
  • Uførepensjon หรือเงินคนพิการหรือไร้ความสามารถที่จะทำงาน บุคคลนั้นจะต้องมีอายุระหว่าง 18-67 ปี ซึ่งป่วยหรือได้บาดเจ็บจนไม่สามารถที่จะทำงานได้ ก่อนที่จะได้รับเงินช่วยนี้บุคคลนั้นก็จะได้รับการช่วยเหลือด้านการบำบัดหรือให้การฝึกฝนงาน ซึ่ง arbeidskontoret (NAV) จะช่วยหางานที่เหมาะสมให้ หรือเสนอทางออกในการให้การศึกษาเพิ่มเติมในงานอื่น ๆ

บุตรและผู้ปกครอง
นอร์เวย์จะให้ความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว เมื่อหญิงที่ตั้งครรถ์และคลอดบุตร จะสามารถลาหยุดพักผ่อนกรณีคลอดบุตรได้(fødselspermisjon) เมื่อมารดาทำงานหรือมีงานทำ ผู้ปกตรองจะมีสิทธิ์ลาหยุดได้รวม 52 สัปดาห์ พร้อมกับได้รับเงินเดือน 80% หรือจะเลือกลาหยุด 42 สัปดาห์ โดยได้รับเงินเดือนเต็ม 100% วันหยุดทั้งหมดนี้สำหรับบิดาหยุด 4 สัปดาห์ และ 9 สัปดาห์สำหรับมารดา ส่วนเวลาที่เหลือแล้วแต่จะตกลงกันเอง ซึ่งบิดาส่วนใหญ่ก็จะหยุดเพียง 4 สัปดาห์ตามสิทธิ์ของตนเท่านั้น ไม่หยุดเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งบิดาและมารดามีเวลาอยู่ร่วมกันกับบุตรในการดูแลเอาใจใส่บุตรอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังได้รับการช่วยเหลือจากรัฐฯ ด้านการเงินในการคลอดบุตร เป็นเงินก้อนเมื่อคลอดประมาณ 32,000 kr. และได้รับเงินรายเดือนอีกประมาณกว่า 3,000 kr. ในช่วง 3 ขวบแรก และจะได้เงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งอีกกว่า 900 kr. จนกระทั่งบุตรอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์
ผู้ปกครองที่มีบุตรอายุครบ 1 ขวบ ก็ต้องทำเรื่องขอเข้า barnehageplass หรือเนอสเซอรี่ ซึ่งมีทั้งของรัฐฯ และเอกชน ซึ่งรัฐฯ ให้การสนับสนุนเงินให้ส่วนหนึ่งและผู้ปกครองต้องจ่ายเองอีกส่วนหนึ่ง สำหรับผู้ที่หาเนอสเซอรี่ของรัฐฯ ไม่ได้ ก็สามารถขอรับเงินช่วยเหลือในการดูแลบุตรเองได้จนบุตรมีอายุครบ 3 ขวบ

บริการด้านสุขภาพของรัฐบาล
สุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญซึ่งเกี่ยวเนื่องจากเป็นเรื่องของสวัสดิภาพ ดังนั้นรัฐบาลมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะให้ความช่วยเหลือทุกคนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือซึ่งเจ็บป่วย ในการเข้ารับการรักษาเมื่อผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นในการรักษาไม่ว่าคนผุ้นั้นจะมีเงินมากมายเพียงใดหรือไม่มีเงินเลยก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทุกคนพึงมีสิทธิ์ได้รับด้วยความเท่าเทียมกัน แต่ถ้าหากว่าผู้ป่วยไม่ได้นอกพักที่โรงพยาบาลก็จะต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งของตน(egenandel)สำหรับค่าตรวจรักษา





No comments:

Post a Comment